
โดยก่อนหน้านี้มีข่าวไม่สู้ดีนัก เกี่ยวกับการได้รับสิทธิในเรื่องของการรักษาพยาบาลของผู้พิการ จนผู้พิการทั้งหลายมีความเดือดเนื้อร้อนใจเป็นอย่างมากว่าพวกตน จะไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมคนปกติ หรือจะโดนลิดรอนสิทธิบางอย่างไป แต่อย่างไรก็ตามเหล่าผู้พิการสบายใจได้ เพราะตอนนี้มีนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรออกมาแล้ว
ประกันสังคมออกมาให้ข้อมูล สำหรับคนพิการซึ่งเลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม ได้รับความสะดวกเช่นเดิม โดยสามารถเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลตามสิทธิที่ได้เลือกไว้ได้ ย้ำ สามารถแจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ในกรณีไม่พอใจสถานพยาบาลที่ได้จัดไว้ให้ ณ สำนักงานประกันสังคมทุกหน่วยบริการ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของทุกปี
หลังจากที่มีการออกคำสั่งโดยตรงจาก คสช. ว่าด้วยเรื่องการรับบริการสาธารณสุขของคนพิการ ด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกฎหมายประกันสังคม ได้มีการกำหนดอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนซึ่งเป็นคนพิการเข้ารับการรักษาพยาบาลตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. ได้ทุกประการ
โดยทางด้านสำนักงานประกันสังคม ออกมายืนยันแล้วว่า ผู้ประกันตนที่เป็นคนพิการ ไม่ต้องกังวลใดๆ เนื่องจากยังคงได้รับสิทธิประกันสังคมต่างๆ เช่นเดิม โดยจะจ่ายเงินทดแทน ในกรณีดังนี้ เงินทดแทนขาดรายได้ในกรณี คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, ตาย, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ และว่างงาน
ส่วนในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลนั้น ผู้พิการให้รับการรักษาพยาบาลในระบบบัตรทองได้ตามปกติ แต่ปกติสิทธิประกันสังคมจะต้องมีการกำหนดโรงพยาบาลตามสิทธิที่ทำการรักษาไว้ เมื่อผู้พิการได้รับการรักษาตามสิทธิบัตรทอง ทาง สปสช ก็จะจัดหน่วยบริการให้อย่างอัตโนมัติ แต่ถ้าผู้ประกันตนซึ่งเป็นคนพิการมีความประสงค์เปลี่ยน ก็ทำการติดต่อขอเปลี่ยนหน่วยบริการได้ ณ หน่วยบริการของ สปสช. ทุกแห่งทั่วประเทศ
ในส่วนของสถานประกอบการซึ่งได้มีการว่าจ้างคนพิการใหม่ ให้ทำการติดต่อเพื่อขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนพร้อมหลักฐานคือ เอกสาร, บัตรประจำตัวคนพิการ และเอกสารรับรองความพิการ โดยคนพิการที่เป็นลูกจ้างดังกล่าวจะสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ หน่วยบริการ หรือหน่วยงานในสังกัด สปสช. ได้ โดยเฉพาะในกรณีเจ็บป่วยก็สามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้เลย
ทั้งนี้ ทางสำนักงานประกันสังคมก็ยังคงมีความมุ่งมั่น ในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน รวมทั้งนโยบายของกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริม ให้ประชาชนทุกกลุ่มในสังคมได้มีอาชีพเลี้ยงตัว สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำช่องว่างทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการให้เกิดความทัดเทียมกันในทุกๆ สิทธิ ทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความเท่าเทียม